การจัดการขยะในโรงเรียน  
 

ปัจจุบันมีแนวทางการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือการเลือกวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ สินค้าต่างๆไปจนถึงปลายทางของการจัดการขยะ อาทิ การทำปุ๋ย การแยกขยะ การนำขยะรีไซเคิลไปใช้ประโยชน์ต่อ ฯลฯ ส่วนใหญ่เรามักใช้หลักการ 3Rs แต่หากจะสามารถช่วยลดและจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้หลัก 1A3R ซึ่ง 3R ที่ว่านั่นคือ Reduce Reuse และ Recycle แต่ 1A ที่เพิ่มมานั่นมีความสำคัญคือ เป็นการหลีกเลี่ยงหรืองด (Avoid) วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆ ที่ก่อให้เกิดขยะ

 
 

1A3R กลยุทธ์ในการจัดการขยะ

1A3R คือ กลยุทธ์ในการจัดการกับขยะมูลฝอยที่เริ่มต้นที่จะมีขยะเกิดขึ้น ประกอบด้วยขั้นตอนตั้งแต่การงด – เลิก  ลด ใช้ซ้ำและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ เป็นหลักการแก้ปัญหาขยะแบบประหยัดที่ไม่ต้องอาศัยงบประมาณทางราชการใดๆ แต่ต้องอาศัยความตั้งใจ  เสียสละและเวลา  รวมทั้งงบประมาณส่วนตัว (เล็กน้อย) มีความหมาย  ดังนี้

 
 

Avoid  หรืองด –เลิก

เป็นการงดหรือเลิกการบริโภคที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคโดยตรง  การบริโภคที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นและต่อระบบนิเวศ  โดยจะต้องงดหรือเลิกบริโภค

  1. ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้งเลย
  2. ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และระบบนิเวศ
  3. ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ป่าหรือชิ้นส่วนของสัตว์ป่าทุกชนิด
  4. กิจกรรมที่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์และสภาพแวดล้อม
 
 

Reduce หรือลด

ลดการบริโภคที่จะทำให้เกิดการร่อยหรอของทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด  ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป รวมทั้งทรัพยากรที่ทดแทนใหม่ได้บางชนิดก็ต้องลดการใช้  เนื่องจากทำให้เกิดการเสียสมดุลของระบบนิเวศ โดยการลดการใช้ทรัพยากร  ดังนี้

  1. ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป
  2. ทรัพยากรที่ทดแทนใหม่ได้
  3. ผลิตภัณฑ์ที่เมื่อนำมาใช้ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศ
  4. ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากขบวนการผลิตที่ต้องใช้พลังงานมาก
 
 

Reuse หรือใช้ซ้ำ – ใช้แล้วใช้อีก

เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการบริโภคอย่างเหมาะสม  เพื่อลดการร่อยหรอของทรัพยากรที่มีอยู่  และลดการปล่อยมลพิษสู่สภาพแวดล้อม โดยการนำผลิตภัณฑ์และทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ในลักษณะเดิม  ไม่มีการเปลี่ยนรูปทรงด้วยการหลอม  บด  แยกใดๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียพลังงาน  เช่น

  1. เสื้อผ้าทุกชนิด
  2. ภาชนะบรรจุที่ทำด้วยแก้วทุกชนิด
  3. ภาชนะบรรจุอื่นๆ เช่น ลังกระดาษ  ลังพลาสติก ฯลฯ
  4. กระดาษ
 
 

Recycle หรือหมุนเวียนกลับมาใหม่

ผลิตภัณฑ์บางชนิด  แม้จะมีความคงทน แต่กลับมีอายุการใช้งานสั้น มีปริมาณการใช้มาก  ทำให้เดการหมดเปลืองทรัพยากรและพลังงานอย่างรวดเร็ว  จึงควรใช้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้อย่างระมัดระวังและให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด  เพื่อลดปริมาณของเสียที่จะถ่ายเทสู่สภาพแวดล้อม  และเมื่อเลิกใช้แล้วควรจะจัดการเพื่อนำเอาทรัพยากรที่ครั้งหนึ่งถูกแปรเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ดังกล่าว  หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่  ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการหลอมละลาย บด  อัด ฯลฯ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้  มีดังนี้

  1. แก้ว ได้แก่  ขวดแก้วต่างๆ ทั้งที่มีสีใส  สีน้ำตาลและสีเขียว
  2. กระดาษ ได้แก่ กระดาษหนังสือพิมพ์  กล่องกระดาษ  ถุงกระดาษ  สมุด  กระดาษสำนักงาน หนังสือต่างๆ
  3. โลหะ ได้แก่ วัสดุหรือเศษเหล็กทุกชนิด   กระป๋องอลูมิเนียม  ทองแดง  ทองเหลือง
    เป็นต้น
  4. พลาสติก ได้แก่  ขวดน้ำพลาสติกใส  ขวดน้ำพลาสติกสีขาวขุ่น  ถุงพลาสติกเหนียว ภาชนะพลาสติกต่างๆ (กะละมัง  ถังน้ำ  ขวดแชมพู) รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์รีไซเคิล