ผลการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การวัดค่ากลางของข้อมูล สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดย นางภูสิตา จินดาหลวง
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เพื่อสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การวัดค่ากลางของข้อมูลสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างกลุ่มที่เรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนกับกลุ่มที่เรียนด้วยวิธีการสอนแบบปกติและเพื่อวัดเจตคติของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5โรงเรียนแม่ทาวิทยาคม จังหวัดลำพูน ที่เรียนอยู่ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 มีวิธีการในการเลือกสุ่มตัวอย่างโดยใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (cluster random sampling) โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 จำนวน 34 คน เป็นกลุ่มทดลอง คือเรียนโดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การวัดค่ากลางของข้อมูล ด้วยตนเองและนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/2 จำนวน 34 คน เป็นกลุ่มควบคุม คือ เรียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนการสอนตามปกติโดยครูอธิบายในชั้นเรียน
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การวัดค่ากลางของข้อมูล สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้วิจัยสร้างเอง จำนวน 7 ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ และแบบวัดเจตคติของนักเรียน เป็นข้อคำถามแบบปิด ชนิดมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 10 ข้อ
วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจากคะแนนทดสอบระหว่างเรียนและคะแนนทดสอบหลังเรียน โดยใช้สูตร เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยการหาค่า t-test แบบ Independent Samples t-test จากคะแนนการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน (Pre-test) และคะแนนการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน (Post-test)วิเคราะห์เจตคติของนักเรียนกลุ่มทดลองโดยใช้ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการวิจัยพบว่า
1) บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การวัดค่ากลางของข้อมูล สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.07:82.06 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 80:80
2) การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยสถิติ t-test พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การวัดค่ากลางของข้อมูล สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมหลังเรียน (Post-test) มีค่าเฉลี่ยคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน (Post-test) สูงกว่ากลุ่มควบคุม
3) ผลการวัดเจตคติของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การวัดค่ากลางของข้อมูลสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5ของกลุ่มทดลองพบว่านักเรียนมีระดับเจตคติอยู่ในระดับดีมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.65 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ( S.D.) เท่ากับ 0.51