การแก้ไขปัญหาการออกเสียงพินอินโดยใช้ชุดฝึกทักษะการอ่านออกเสียงพินอินของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ปีการศึกษา 2561: ศิริรัตน์ ณ เชียงใหม่

การแก้ไขปัญหาการออกเสียงพินอินโดยใช้ชุดฝึกทักษะการอ่านออกเสียงพินอินของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ปีการศึกษา 2561

ผู้ศึกษา: นางศิริรัตน์ ณ เชียงใหม่ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ชำนาญการ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ โรงเรียนแม่ทาวิทยาคม อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน

ที่มาและความสำคัญของปัญหา
     แผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 8 เน้นการพัฒนาคนไทยให้มีความรู้ภาษาต่างประเทศเป็นอย่างดี( สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2539 ) และกระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นความสำคัญของภาษาต่างประเทศ จึงได้กำหนดสาระและมาตรฐานการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศไว้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 และการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาอย่างชัดเจน และมิได้เน้นเพียงภาษาอังกฤษเท่านั้น ภาษาต่างประเทศอื่นๆก็สามารถเลือกจัดการเรียนรู้ได้ตามความเหมาะสม( กระทรวงศึกษาธิการ, 2544 )
     หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 มุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข และมีความเป็นไทย มีศักยภาพในการศึกษาต่อ และประกอบวิชาชีพ มีความรู้อันเป็นสากล รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ ในปัจจุบันสถาบันการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษาจำนวนมาก เริ่มเห็นความสำคัญของภาษาจีนแล้ว และได้มีการเปิดสอนวิชาภาษาจีนขึ้น เพราะสังคมปัจจุบันเป็นโลกแห่งเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากเหตุข้างต้น ภาษาจีนน่าจะเป็นภาษาที่สำคัญภายในอนาคต นอกจากนี้ใครก็ตามที่พูดได้มากกว่าหนึ่งภาษา เท่ากับเป็นกำไรชีวิต เป็นใบเบิกทางให้มีหน้าที่การงาน สร้างอาชีพต่างๆและได้เป็นบันไดในการศึกษาต่อระดับสูงต่อไป( พิมล ทองวิจารณ์ )
     ระบบพินอิน คือ เครื่องมือทางด้านภาษาที่สะดวกและง่ายต่อการการศึกษาภาษาจีนและอักษรจีนทำให้ผู้ที่พูดและเขียนตัวอักษรจีนไม่ได้ ได้เรียนรู้ระบบการออกเสียงภาษาจีนได้อย่างถูกต้องแม่นยำ โดยการยืมอักษรโรมัน เช่น b p m f a o e ……… มาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเสียงพยัญชนะเสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์ของภาษาจีนกลาง ฉะนั้นจำไว้ว่าเรายืมตัวอักษรโรมันมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเสียงเท่านั้นส่วนระบบการออกเสียงนั้นเป็นระบบเสียงของภาษาจีนกลางไม่ใช่การออกเสียงภาษาอังกฤษ( สุรชัย ปัทมผดุงศักดิ์ )
     การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยนั้น ผู้วิจัยเห็นว่าปัญหาการเรียนการสอนภาษาจีน คือภาษาจีนเป็นภาษาที่ยาก ออกเสียงค่อนข้างยาก ต้องจำคำศัพท์มากมาย เป็นผลให้นักเรียนไม่อยากเรียนภาษาจีน ผู้วิจัยจึงได้สร้างชุดแบบฝึกการฟังและการอ่านออกเสียงพยัญชนะและสระเดี่ยวในระบบพินอินสำหรับนักเรียนที่เรียนภาษาจีนมาแล้วหนึ่งปี แต่นักเรียนสะกด และอ่านออกเสียงพยัญชนะและสระเดี่ยวในระบบพินอินยังไม่ค่อยชัดเจนนัก
     จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ผู้วิจัยจึงมีความคิดเห็นว่าควรจะหาวิธีหรือเทคนิครวมไปจนถึงสื่อที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากการออกเสียงเป็นทักษะพื้นฐานในการพูดและการอ่านออกเสียง หากนักเรียนออกเสียงไม่ชัดเจนแล้ว อาจทำให้การพูดเพื่อติดต่อสื่อสารเกิดความไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดก็เป็นได้ บางทีอาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจหรือเกิดความมึนงงได้จากการออกเสียงไม่ชัดนั่นเอง ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะนำชุดฝึกการออกเสียงพินอิน ที่ใช้ ประกอบการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ โดยใช้ชุดฝึกการออกเสียงพินอิน ที่มีภาพประกอบการอ่านออกเสียงในภาษาจีนสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่กำลังเริ่มเรียนภาษาจีน เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาการอ่านออกเสียงพินอินของนักเรียน ซึ่งชุดฝึกการออกเสียงพยัญชนะดังกล่าวนี้ได้ใช้ภาพประกอบ เข้ามาช่วยในการจดจำการออกเสียง พร้อมทั้งสอดแทรกคำศัพท์ที่นักเรียนควรรู้ ตามเนื้อหาของหลักสูตรระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
     1. เพื่อฝึกการออกเสียงพินอิน สำหรับนักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนแม่ทาวิทยาคม ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 70/70
     2. เพื่อให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางด้านการออกเสียงพินอิน ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

ความสำคัญของการวิจัย
     1. ได้ใช้ชุดฝึกการอ่านออกเสียงพินอิน สำหรับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 2
     2. เป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนวิชาภาษาจีน ในการนำแบบฝึกการออกเสียงพินอิน มา
ประกอบการเรียนการสอนภาษาจีน

สมมติฐาน
     ความสามารถในการอ่านออกเสียงพินอิน ในภาษาจีน หลังการใช้ชุดฝึกการออกเสียงพินอิน ที่มีภาพประกอบการออกเสียงของนักเรียนชั้น ม. 2 โรงเรียนแม่ทาวิทยาคม มีประสิทธิภาพผ่านเกณฑ์ 70/70

ขอบเขตของการวิจัย
     1. ประชากร ได้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนแม่ทาวิทยาคมจำนวน 3 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 58 คน
     2. กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนแม่ทาวิทยาคมจำนวน 58 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง
     3. ระยะเวลาในการศึกษาค้นคว้า การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ใช้ระยะเวลาทำการศึกษาค้นคว้าในช่วงภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โดยใช้เวลาในการศึกษาทั้งหมด 4 วัน วันละ 20 นาที
     4. เนื้อหาที่ใช้ในการฝึกการออกเสียงพยัญชนะเป็นแบบฝึกออกเสียงพินอิน ซึ่งผู้วิจัยกำหนดขอบเขตในการศึกษา โดยการนำชุดฝึกการออกเสียงพินอิน ที่มีภาพประกอบการอ่านออกเสียงพินอิน ในภาษาจีนเพื่อแก้ปัญหาการอ่านออกเสียงไม่ชัดเจนสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนแม่ทาวิทยาคม
     ผู้วิจัยกำหนดขอบเขตในการศึกษา โดยการนำชุดฝึกการอ่านออกเสียงพินอิน เพื่อแก้ปัญหาการอ่านออกเสียงไม่ชัดเจนสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนแม่ทาวิทยาคม ออกเป็นดังต่อไปนี้
     1. ชุดฝึกการอ่านออกเสียงพินอิน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียน แม่ทาวิทยาคม จำนวน 3 บท
     2.ประสิทธิภาพของชุดแบบฝึกการอ่านออกเสียงพินอิน ที่สร้างขึ้น เป็นไปตามเกณฑ์ 70/70
     3.เปรียบเทียบความสามารถในการอ่านออกเสียงพินอิน สำหรับนักเรียนระดับ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่2 โรงเรียนแม่ทาวิทยาคม ก่อนใช้และหลังใช้ชุดแบบฝึกการอ่านออกเสียงพินอิน ที่กำหนดขึ้น

ตัวแปรที่ต้องศึกษา
     ตัวแปรต้น คือ ชุดฝึกการอ่านออกเสียงพินอิน
     ตัวแปรตาม คือ ความสามารถในการอ่านออกเสียงพินอิน

นิยามคำศัพท์เฉพาะ
     1. ชุดฝึกการอ่านออกเสียงพินอิน ในภาษาจีน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 2 หมายถึง ชุดฝึกที่ผู้วิจัยค้นคว้าจากอินเตอร์เน็ตและหนังสือ ประกอบไปด้วย ชุดฝึกสัทอักษรพินอิน ซึ่งมีเนื้อหาและเน้นการฝึกปฏิบัติดังนี้
     zh( ts ) มีเสียงเทียบเคียงได้กับเสียง (จรือ) ก่อนออกเสียงให้ดันลิ้นไปติดกับเพดานลิ้นด้านบน เปล่งเสียงออกมาพร้อมกับเผยอริมฝีปากบนเล็กน้อย
     ch( ts ) มีเสียงเทียบเคียงได้กับเสียง ( ชรือ ) การออกเสียงเหมือนกับตัว (จรือ ) แต่ดันลมผ่านช่องปากออกมามากกว่า
     sh( s ) มีเสียงเทียบเคียงได้กับเสียง ( ซรือ ) ก่อนออกเสียงให้ปลายลิ้นกระดกขึ้นไปใกล้กับเพดานปากส่วน
     z( ts ) มีเสียงเทียบเคียงได้กับเสียง ( ซือ ) การออกเสียงคล้ายกับตัว( ซรือ ) โดยให้เสียงเสียดสีระหว่างลิ้นกับเพดานปาก แต่ไม่ต้องเผยอริมฝีปาก
     c( ts ) มีเสียงเทียบเคียงได้กับเสียง ( ชือ ) การออกเสียงคล้ายกับตัว( ชรือ )แต่ดันลมให้เสียดสีออกไปมากกว่า s( s )มีเสียงเทียบเคียงได้กับเสียง ( ซือ ) การออกเสียงคล้ายกับตัว ( ซรือ ) มากแต่เสียงจะเกิดจากการดันลมให้เสียดสีออกมามากกว่า
     2. ความสามารถในการอ่านออกเสียง หมายถึง ทักษะในการอ่านออกเสียงพินอิน ได้อย่างชัดเจนถูกต้อง โดยอาศัยจากชุดฝึกการอ่านออกเสียง ซึ่งสามารถวัดได้โดยการออกเสียงของนักเรียนเป็นรายคาบ
     3. ภาพประกอบการอ่านออกเสียงพินอิน หมายถึง รูปภาพการอ่านออกเสียง ซึ่งบอกแสดงวิธีการวางลิ้น เปร่งเสียง ปล่อยลม กักลม รวมถึงตำแหน่งของฟันในช่องปากด้วย
     4. ประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 70/70 หมายถึง เกณฑ์ในการตัดสินประสิทธิภาพของชุดการฝึกการอ่านออกเสียงพินอิน
     70 ตัวแรก หมายถึง จำนวนนักเรียนที่ทำแบบฝึกหลังเรียนด้วยชุดฝึกการอ่านออกเสียงพยัญชนะzh ch sh ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ร้อยละ 70
     70 ตัวหลัง หมายถึง จำนวนนักเรียนที่ทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเมื่อสิ้นสุดการเรียนด้วย ชุดฝึกการอ่านออกเสียงพินอิน ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ร้อยละ 70

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย
     1. นักเรียนออกเสียงพินอิน ได้อย่างถูกต้อง
     2. นักเรียนจำแนกเสียงพินอิน ของภาษาจีนได้ เมื่อผสมกับพยัญชนะและสระเดี่ยวในระบบพินอิน

ผลการวิจัย
     จากการวิจัยการใช้ชุดฝึกการอ่านออกเสียงพินอิน ในภาษาจีนประกอบการสอน สามารถสรุปผลดังนี้
     1. ความสามารถในการอ่านออกเสียงพินอิน ในภาษาจีนของนักเรียนหลังการเรียนการสอนโดยมีชุดฝึกการอ่านออกเสียงพินอิน ในภาษาจีน มีประสิทธิภาพผ่านเกณฑ์ 70/70
     2. หลังจากที่นักเรียนได้ทดลองอ่านโดยใช้ชุดฝึกการอ่านออกเสียงพินอิน ในภาษาจีนแล้ว นักเรียนสามารถผ่านเกณฑ์ผลสัมฤทธิ์ร้อยละ 95%

ข้อเสนอแนะ
     1. ข้อเสนอแนะในการด้านการเรียนการสอน
          1.1 ในการใช้ชุดฝึกการอ่านออกเสียงพินอิน ในภาษาจีนประกอบการเรียนการสอนนั้น ครูผู้สอนควรชี้แจงถึงจุดมุ่งหมายของการใช้แบบฝึกการอ่านออกเสียงพินอิน ว่า เป็นการช่วยพัฒนาทักษะทางด้านการอ่านออกเสียงพินอิน ในภาษาจีน ทั้งยังช่วยในการจดจำตัวอักษรได้ด้วย
          1.2 ครูผู้สอนควรอธิบายวิธีการออกเสียงโดยเน้น คำที่ออกเสียงยากเป็นพิเศษ เพื่อที่นักเรียนจะได้ฝึกฝน และควรใช้รูปภาพเป็นสื่อในการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนเข้าใจวิธีการออกเสียงและเปล่งเสียงออกมา
     2. ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป
          2.1 ควรมีการนำแนวคิดและหลักการสร้างชุดฝึกการอ่านออกเสียง ที่มีการสอนแบบบูรณา
การกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศในเรื่องอื่น ๆ
          2.2 ควรทำการวิจัยโดยใช้สื่อภาพประกอบการอ่านออกเสียงพยัญชนะ คำศัพท์ ในภาษาจีนในการสอนทักษะด้านการฟัง พูด อ่าน เขียน

ดาวน์โหลดไฟล์ pdf

โรงเรียนแม่ทาวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 35
291 หมู่ 3 ตำบลทาสบเส้า อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน 51140
โทรศัพท์ 053-976296 โทรสาร 053-976701